บทที่ 62 “เต๋า” ปราศจากความดีความชั่ว
“เต๋า” คุ้มครองสรรพสิ่ง
เป็นสิ่งวิเศษของคนดี
เป็นที่พึ่งของคนเลว
คำไพเราะแลกความเคารพได้
ความประพฤติดีได้รับความสนใจ
คนเรายังมีคนเลว
จะละทิ้ง “เต๋า” ได้อย่างไร
เจ้าฟ้าขึ้นครองราชย์แต่งตั้งมหาอำมาตย์
แม้มีพิธีถวายอาชาไนย หินหยกเป็นบรรณาการ
มิเท่าเคารพและคุยเรื่องเต๋า
เหตุใดนับแต่โบราณจนถึงปัจจุบันจึงให้ความสำคัญกับเต๋าเล่า
เพราะกล่าวว่าทำตามเต๋าขอสิ่งใดย่อมได้
มีโทษทัณฑ์ก็ได้อภัยโทษมิใช่หรือ
จึงเป็นสิ่งล้ำค่าของโลก
คติธรรม
1) เต๋าธรรมชาติเป็นแหล่งลี้ลับที่สรรพสิ่งศรัทธาบูชา เพราะถือการให้อภัยเป็นคุณธรรม
2) โลกแห่งสังคมโลกีย์ ให้เขาเอะอะโวยวายพักหนึ่ง แล้วก็เงียบไป เงียบแล้วก็ดี เต๋าจะรอเขาทุกวันคืน
3) การพัฒนาจะอาศัยความหรูหราสดใสแต่เปลือกนอกไม่ได้ เพราะไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ต้องอาศัยภายในที่เรียบง่ายไม่ตกแต่ง
4) เต๋านั้นไร้รูป เมื่อละทิ้ง “รูป” เข้าสู่ภาวะ “ไร้” จึงจะเข้าสู่เต๋าปฏิบัติตามและฝึกฝนเต๋าได้ สุดท้ายเข้าสู่ “ความยิ่งใหญ่” ที่มีอยู่ทุกหนทุกแห่ง นี่เป็นช่วงเวลาที่ไม่หยุดนิ่ง
5) เมื่อเรากระหายน้ำต้องไปหาน้ำดื่มเป็นไปไม่ได้ที่น้ำจะวิ่งมาหาเราเต๋าก็เป็นเช่นนี้ตนต้องเป็นผู้ไปค้นหาเต๋าเป็นมูลรากชีวิตของมนุษย์เราต้องเข้าใจเต๋าให้ลึกซึ้งศึกษาด้วยความเคารพเสมอต้นเสมอปลายและศึกษาจนชีวิตหาไม่
